สู้ต่อไปเพื่อมวลชน! นายกมัคคุเทศก์ฯ เป็นกระบอกเสียงขอภาครัฐช่วยให้ไกด์เข้าถึงเงินกู้ภาคท่องเที่ยว

0 0
Read Time:4 Minute, 33 Second

นายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย เปิดใจโครงการเงินกู้ภาคท่องเที่ยวที่ประสานผ่านสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในส่วนของมัคคุเทศก์เพื่อพยุงตัวเองในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงมีปัญหา และอุปสรรคกับหลักเกณฑ์ของธนาคารออมสินแต่ละสาขาใช้ดุลพินิจไม่เหมือนกัน บางสาขายังยึดเงื่อนไขในสถานการณ์ปกติที่ยังคงนำมาใช้ยามวิกฤติ จึงขอฝากถึงหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องช่วยพิจารณาผู้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ ให้เข้าถึงเงินกู้ภาคการท่องเที่ยวได้จริง

คุณวิโรจน์ สิตประเสริฐนันท์ นายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตนเองเพิ่งได้รับหนังสือแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของมวลชน​ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา​ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่48/2563​ ลงวันที่​ 14​ กุมภาพันธ์​ 2563​ โดยพลเอก​ ประยุทธ์​ จันทร์โอชา​ นายกรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของมวลชนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจหน้าที่ และอำนาจของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา​ ซึ่งก็ยังไม่มีการเรียกประชุมคณะกรรมการ อันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด​-19 อย่างไรก็ตาม​ ในฐานะนายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย​ ก็มีภารกิจในเรื่องการแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์อยู่แล้ว​ แต่ในส่วนขอบเขตของมวลชนตามภารกิจของคณะกรรมการชุดนี้ก็ยังไม่ทราบชัดเจน​ ซึ่งต้องรอให้ นายพิพัฒน์​ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะประธานกรรมการชุดนี้เรียกประชุม​

สำหรับในส่วนของมัคคุเทศก์​เองนั้น ตนเองก็ได้ติดตาม และวิเคราะห์ถึงปัญหา รวมถึงอุปสรรคในมาตรการเยียวยา​ 5,000​ บาท​ ที่กลุ่มมัคคุเทศก์ไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างที่ควรจะเป็น ตามที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้มีการแถลง​ข่าว อีกทั้งในเรื่องของการพยายามหาแนวทางให้มัคคุเทศก์ได้มีโอกาสที่จะเข้าถึงเงินกู้ภาคการท่องเที่ยว​ที่ผ่านทางธนาคารออมสิน​ ซึ่งทางสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพฯ ก็ได้ประสานงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย​ แต่ก็พบกับปัญหา และอุปสรรคของการให้คำนิยามผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่มองข้ามผู้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้​ ซึ่งล้วนประสบกับความเดือดร้อนไม่แตกต่างจากผู้ประกอบการอื่นทุกภาคส่วนของการท่องเที่ยว ที่ถือว่ามัคคุเทศก์เป็น​ 1​ ใน​ 13​ อาชีพของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย​ ซึ่งได้รับผลกระทบกับสถานการณ์ขณะนี้ด้วยเช่นกัน และเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่ช่วงระบาดภายนอกที่อู่ฮั่นของจีน จนระบาดมาในประเทศและทั่วโลกถึงปัจจุบัน

ในขณะนี้เรื่องเยียวยามาตรการ 5,000 บาท ก็คงจะสรุปกันไปแล้ว แต่มัคคุเทศก์ส่วนใหญ่ก็ยังคงได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการเงินเพื่อยังชีพและเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพอื่นทดแทน ดังนั้น​ จึงอยากขอให้มัคคุเทศก์ได้รับสิทธิในมาตรการเยียวยาภาคท่องเที่ยวในด้านเงินกู้ด้วยเงื่อนไขพิเศษตามสัดส่วน และความจำเป็นที่เหมาะสมในลักษณะสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้งบเงินกู้เดียวกัน เพราะการเยียวยาตามมาตรการ​ 5,000​ บาท​ เป็นมาตรการเพื่อทุกสาขาอาชีพอิสระที่เฉลี่ยกันไป​ ซึ่งสิทธิดังกล่าวเป็นมาตรการสาธารณะที่ไม่ได้เลือกปฏิบัติให้กับมัคคุเทศก์โดยเฉพาะ​ จึงไม่นับว่าเป็นการช่วยเหลือมัคคุเทศก์โดยตรง อีกทั้งมัคคุเทศก์ส่วนใหญ่ ก็ยังไม่ได้อานิสงส์จากมาตรการดังกล่าวด้วย

ขณะที่รัฐได้มีนโยบายมาตรการเงินกู้เพื่อให้ผู้ประกอบการนำมาเพื่อพยุงการจ้างงานบุคลากรของตนเองเป็นสำคัญ เพราะในช่วงนี้ไม่ใช่เงินกู้เพื่อสร้างรายได้จากธุรกิจที่คงจะทำได้ยาก จึงสนับสนุนเงินกู้เพื่อมาพยุงหรือรักษาการจ้างงานบุคลากร​ หรือพนักงานของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่าง​ๆ เอาไว้ประมาณภายในระยะเวลาหนึ่งหรืออย่างน้อย​ 6​ เดือนข้างหน้า เพื่อไม่ให้พนักงานโดยเฉพาะระดับล่างตกงาน ซึ่งตรงกันข้ามกับมัคคุเทศก์ที่ไม่มีรายได้ และตกงานอยู่ก่อนแล้ว​ โดยที่ไม่มีผู้ประกอบการให้เงินเดือน หรือจ้างงานใดๆ​ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน นอกจากจะต้องพยุงตัวเองให้รอดจากวิกฤติครั้งนี้อย่างน้อย​ 6​ เดือนข้างหน้าเช่นกัน แต่กลับไม่มีการกล่าวถึงในประเด็นของมัคคุเทศก์ ดังนั้น หากการท่องเที่ยวฟื้นกลับมาตามการคาดไว้ โดยผู้ประกอบการอยู่รอด แต่หากไม่ช่วยมัคคุเทศก์ เมื่อถึงตอนนั้นแล้วมัคคุเทศก์เหล่านี้จะอยู่ที่ไหน ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ที่เสมือนเป็นทัพหน้าในการดูแลให้บริการนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ไหนและในสภาพเช่นใดหากไม่ช่วยพวกเขาให้อยู่รอดด้วยในขณะนี้ ดังนั้น​ พวกเขาเหล่านี้จึงมีความจำเป็นต้องการแหล่งเงินกู้ เพื่อมาพยุงตัวเอง และครอบครัว​ ซึ่งหากเมื่อการท่องเที่ยวกลับมา​ พวกเขาก็จะมีงาน มีรายได้ นำเงินมาคืนให้กับสถาบันการเงินได้เช่นเดียวกัน​​ แต่ถ้าคิดว่าเขาไม่มีหลักประกัน​ นั่นก็หมายถึง​ผู้ประกอบการทั้งหลายก็ไม่มีหลักประกันด้วยหรือเปล่า ถ้าคิดมองว่าหากการท่องเที่ยวไม่กลับมาดีดังที่คาดหมาย พวกเขาจะนำเงินมาคืนได้อย่างไร นี่คือคำถามที่เจ้าหน้าที่ธนาคารบางสาขาได้ถามถึงหลักประกันในขณะไปยื่นเรื่องเพื่อขอกู้เงิน

ทั้งนี้ การกระจายความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์เป็นรายบุคคล น่าจะช่วยคิดพิจารณาเพราะเป็นแนวทางที่ช่วยคน ช่วยเศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งความเสี่ยงที่น้อยมากกับงบเงินกู้ที่ไม่ได้มากมายเท่าใด สำหรับสัดส่วนที่จะให้กับกลุ่มมัคคุเทศก์​ จึงอยากฝากถึงหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาอย่างจริงจังด้วย รวมทั้งคณะทำงานของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในเรื่องนี้ได้นำไปหารือกับทางผู้บริหารของธนาคารออมสินให้ชัดเจนและหาแนวทางให้กับมัคคุเทศก์และมัคคุเทศก์ที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภทบุคคลธรรมดาด้วย

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %
admin
ponkanok.cbs@gmail.com
Previous post รู้หรือยัง? กรมการท่องเที่ยวมี Call Center บริการ 24 ชม.แล้วนะ
Next post สหกรณ์ออมทรัพย์ คือ อะไร