ต้องทำความเข้าใจก่อนว่ากฎหมายต่าง ๆ ที่ออกมาบังคับใช้แต่ละฉบับนั้นมีกระบวนการมากมายใช้เวลาเนิ่นนาน และเมื่ออกมาแล้ว ยังยุ่งยากในการจะออกกฎหมายลูกหรืออนุบัญญัติให้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแม่หรือของ พระราชบัญญัติแต่ละฉบับ บางเรื่องก็อาจจะตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วไม่ทัน อย่างไรก็ตาม ปกติ พรบ.ส่วนใหญ่จะออกมาแบบปลายเปิด เพื่อเปิดช่องว่างให้มีการกำหนดหรือแก้ไขในบางเรื่องในบางมาตราเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการบังคับใช้กฎหมายให้รัดกุมและชัดเจนทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่ง พรบ ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ก็เช่นกัน ที่กำหนดไว้ในบางมาตราในตอนท้ายว่า “ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์กำหนด” ซึ่งที่มาของคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ได้กำหนดไว้ใน พรบ.ถึงที่มาของคณะกรรมการไว้ใน มาตรา 7 และ มาตรา 8 และกำหนดอำนาจ หน้าที่ตามมาตรา12. ใน พรบ ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ดังนี้
มาตรา 7 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์” ประกอบด้วย
1.ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานกรรมการ
2.อธิบดีกรมการท่องเที่ยว เป็นรองประธานกรรมการ
3.ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
4.ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์
5 ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย
6.ผู้แทนกระทรวงแรงงาน
7.ผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม
8.ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข
9.ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
10.ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
11.ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว
12 ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
13.ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนเจ็ดคน เป็นกรรมการ ให้นายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์กลาง เป็นกรรมการและเลขานุการ
กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้แต่งตั้งจากผู้แทนสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยห้าคน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นหรือเคยเป็นอาจารย์สอนในสถาบันอุดมศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีในวิชาการท่องเที่ยวหนึ่งคนและวิชามัคคุเทศก์หนึ่งคน
กรรมการผู้แทนสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยห้าคนตามวรรคสอง จะเป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหรือไม่ก็ได้ โดยอย่างน้อยให้แต่งตั้งจากผู้แทนผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวสองคนและผู้แทนมัคคุเทศก์สองคน
มาตรา ๑๒ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดแผนงานและมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับการส่งเสริม พัฒนา และกำกับดูแลธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์
(๒) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัตินี้
(๓) ออกระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรฐานการประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ของมัคคุเทศก์และผู้นำเที่ยวที่จะพึงปฏิบัติต่อนักท่องเที่ยว และความรับผิดชอบที่มีต่อนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ตลอดจนค่าตอบแทนหรือความคุ้มครองที่มัคคุเทศก์และผู้นำเที่ยวจะพึงได้รับจากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว
(๔) ประกาศกำหนดเขตพื้นที่ในท้องถิ่นหรือชุมชนใดเพื่อให้มัคคุเทศก์ซึ่งได้รับการยกเว้นคุณสมบัติตามมาตรา ๕๑ ทำหน้าที่มัคคุเทศก์ รวมทั้งกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องถิ่นหรือชุมชนนั้น ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี
(๕) ออกระเบียบเกี่ยวกับการเปิดบัญชีเงินฝากและการเบิกจ่ายจากบัญชีเงินฝากสำหรับหลักประกันที่เป็นเงินสดตามมาตรา ๑๘ รวมทั้งการคืนหลักประกันตามมาตรา ๓๙
(๖) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบหาข้อเท็จจริงและการวินิจฉัยของนายทะเบียนตามมาตรา ๔๐
(๗) ออกระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราการจ่ายเงินชดเชยให้แก่นักท่องเที่ยวซึ่งได้รับความเสียหายจากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามมาตรา ๔๑
(๘) พิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้
(๙) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการเก็บรักษาและการบริหารเงินและทรัพย์สินของกองทุนตามมาตรา ๗๑
(๑๐) ปฏิบัติการอื่นตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี
ซึ่งจะเห็นได้ว่า คณะกรรมการธุรกิจท่องเที่ยวและมัคคุเทศก์นั้นจะเป็นข้าราชการเสียส่วนใหญ่ และมีอำนาจมาก ดังนั้น เราจึงมักจะเห็นประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ แบบที่ขัดใจและไม่เป็นไปตามธรรมชาติของการท่องเที่ยวอยู่เสมอ ๆ
เช่น ร่างประกาศในกรณีของการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยว ที่ว่า นักท่องเที่ยวไม่เกิน 12 คน ก็เหมือนกัน คณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ที่แม้จะมีผู้แทนมัคคุเทศก์คัดค้านอย่างเต็มที่ ก็คงยากจะทัดทาน และประกาศที่จะออกนี้ ได้ข่าวว่าอดีตผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงที่อยู่ในคณะกรรมการก็ผลักดันให้ออกมา แม้จะมีการไม่เห็นด้วย จนต้องส่งกลับไปมาหลายครั้งกับคณะอนุกรรมการพิจารณายกร่างอนุบัญญัติ ที่สุดท้ายก็ยังไม่ได้ออกประกาศบังคับใช้ และประเด็นสำคัญคือ การกำหนดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวไม่เกิน 12 คนไม่ต้องใช้มัคคุเทศก์ได้ เป็นเรื่องที่เคยทำประชาพิจารณ์มาแล้ว และมัคคุเทศก์ที่เข้าร่วมส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดไม่เห็นด้วย จนเงียบหายไป อยู่ ๆ กลับมาโผล่ให้มีการให้ความเห็นอีก ซึงเป็นเรื่องที่แปลกที่เหมือนจะดันออกมาให้ได้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในเร็ววันนี้ แม้สถานการณ์โควิด-19 จะยังอยู่และแนวโน้มการท่องเที่ยว New Normal ก็มีลักษณะที่นักท่องเที่ยวจะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งอาจจะเป็นรถตู้มากขึ้น ซึ่งย่อมเป็นโอกาสดีที่จะใช้มัคคุเทศก์มากขึ้นตามขนาดกลุ่มที่เล็กลง ดังนั้น การออกประกาศลักษณะนี้จึงไม่สอดคล้องกับการท่องเที่ยวใหม่ที่ต้องใช้มัคคุเทศก์มากขึ้น ซึ่งร่างประกาศดังกล่าวยังจะเป็นช่องโหว่ทางกฎหมายให้ไกด์เถื่อนต่างชาติทำงานได้ง่ายขึ้น
ทั้ง ๆ ที่ผู้คนในแวดวงการท่องเที่ยว ต่างให้เหตุผลถึงความปลอดภัยในการเดินทางท่องเที่ยว ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม อันดีงามของประเทศไทย และยังส่งผลต่ออาชีพมัคคุเทศก์ที่จะทำให้ขาดโอกาสในการทำงานของมัคคุเทศก์ไทยและเป็นช่องว่างให้ ชาวต่างชาติใช้โอกาสนี้ มาลักลอบปฎิบัติหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์แทนมัคคุเทศก์ไทยก็ได้