
นายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เข้าติดตามความคืบหน้ามาตรการเยียวยาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หลังประสบวิกฤติอย่างหนักถึงขั้นต้องให้พนักงานพักงาน
จากเหตุการณ์วิกฤติไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลกในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร บริษัททัวร์ และผู้ประกอบการอาชีพมัคคุเทศก์ สำหรับในประเทศไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวแทบจะเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่างประสบปัญหาไม่มีนักท่องเที่ยว ทำให้รายได้หายไปอย่างเฉียบพลันไม่ทันตั้งตัว รวมทั้งผู้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ ต่างอยู่ในสภาวะช็อก ซึ่งที่ผ่านมา กลุ่มองค์กรที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว รวมถึงสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย ต่างร้องขอให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือดูเเลในเบื้องต้น เพื่อให้ตั้งตัวได้ในช่วงที่ไม่มีนักท่องเที่ยวแบบสถานการณ์ปัจจุบัน
ซึ่งในวันนี้(19 มี.ค. 63) คุณวิโรจน์ สิตประเสริฐนันท์ นายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นำโดยคุณชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมการประชุมมาตรการช่วยเหลือจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ณ ห้องประชุม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยมีคุณพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานการประชุม
โดยนายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย ได้ “ย้ำ” มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการกู้เงินดอกเบี้ยต่ำ โดยให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันให้ในวงเงินไม่เกินรายละ 200,000 บาท รวมทั้งผ่อนปรนสินเชื่อส่วนบุคคล เช่น บัตรเครดิต ,การผ่อนชำระบ้าน และรถยนต์ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการยังชีพสำหรับมัคคุเทศก์ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงอยากให้มีความชัดเจนในเร็ววัน และอยากให้รัฐบาลเร่งควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งกระทบเป็นวงกว้างอยู่ในขณะนี้ ให้ดำเนินการมาตรการช่วยเหลือให้ถึง ผู้ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วนที่สุด แต่จากการประชุมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องที่ผ่านมา เช่น กรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตลอดจนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็ยังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด
ขณะที่ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการที่มีการหารือกับคุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา ถึงมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ และผู้ได้รับผลกระทบจากภาคอุตสากรรมท่องเที่ยวทั้งระบบ โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารออมสิน ,ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมชี้แจงถึงแนวทางและหลักเกณฑ์เบื้องต้นของการให้กู้เงินกรณีวิกฤติจาก Covid-19 ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จากสถาบันการเงินได้รับปากที่จะดำเนินการทุกเงื่อนไขที่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ ได้ยื่นข้อเสนอไป แต่ในเมื่อไปติดต่อกับธนาคารจริง กลับไม่ได้เงื่อนไขตามที่ได้พูดคุยกัน จึงเตรียมที่จะเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งในวันนี้จึงได้เสนอข้อมูลเพิ่มเติ่มถึงมาตรการเยียวยา โดยเฉพาะมาตรการทางการเงินของผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เข้าถึงแหล่งเงินกู้แล้ว แต่กลับไม่ได้รับการเยียวยาจริง ไม่ว่าจะเป็นการพักชำระเงินต้น 12 เดือน ,ลดดอกเบี้ย 20-50% ,เลื่อนการชำระดอกเบี้ยออกไป 50% เป็นระยะเวลา 12 เดือน และการขอกู้เพิ่มให้เต็มวงเงินเดิม รวมถึงวงเงิน Soft Loan สำหรับเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และผ่อนปรนสำหรับผู้ประกอบการที่ติดเครดิตบูโร ตลอดจนการลดหย่อนการจ่ายเงินค่าประกันสังคม โดยสถาบันการเงินระบุว่า อยู่ระหว่างรอคำสั่งจากรัฐบาล
นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้ปล่อยสินเชื่อวงเงินกู้ฉุกเฉินสำหรับการยังชีพบุคคลผู้ประกอบอาชีพอิสระในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะมัคคุเทศก์ พร้อมทั้งเสนอให้ปล่อยสินเชื่อในวงเงินไม่เกิน 2 แสนบาท โดยยกเว้นหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือ บสย.ค้ำประกัน และปล่อยวงเงินกู้เร่งด่วน 3,000 ล้านบาท ภายใน 31 มีนาคม 2563 จากธนาคาออมสินโดยตรงอีกด้วย
ทั้งนี้ ทางนายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย ยังระบุว่า สำหรับการหารือในวันนี้ ก็ยังไม่ได้รับความชัดเจน อย่างไรก็ตาม หากได้รับเงินกู้จริง นอกจากจะนำไปใช้เพื่อการยังชีพแล้ว ก็อาจจะไปต่อยอดทางธุรกิจอย่างอื่น เพื่อเป็นการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนในช่วงที่ว่างงานอีกช่องทางหนึ่งด้วย